Inflation
Inflation
ภาวะเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง การที่ระดับราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดในรูปแบบของอัตราร้อยละจากดัชนีราคาเงินเฟ้อ ดัชนีเงินเฟ้อที่สำคัญมี 2 ดัชนี ได้แก่ ดรรชนีราคาผู้บริโภค (CPI) , ตัวหักลด GDP (GDP Deflator)หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่เพียงเล็กน้อยเป็นปกติก็จะสร้างสิ่งจูงใจแก่ผู้ประกอบการ แต่หากเพิ่มขึ้นมากและผันผวนก็จะสร้างความไม่แน่นอนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการครองชีพของประชาชน และการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
สาเหตุของเงินเฟ้อตามแนวคิดของ Monetarists
Monetarists เชื่อว่าสาเหตุของเงินเฟ้อเกิดจากการที่มีปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป
กำหนดให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะดุลยภาพที่ระดับราคาสินค้าดุลยภาพที่ P0 และมีรายได้ที่แท้จริงที่ Y0 โดยที่ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ M0 ดังรูปด้านล่างนี้
ต่อมาเมื่อระบบเศรษฐกิจมีเงินในระบบมากขึ้น (จาก M0 เป็น M1) ทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจาก P0 เป็น P1 โดยที่รายได้ที่แท้จริงยังคงอยู่ที่ Y0 ดังรูปด้านล่างนี้
สาเหตุของเงินเฟ้อตามแนวคิดของ Keynesians มี 2 ประการ คือ1.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost-Push) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนของสินค้า สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ความต้องการเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า การเพิ่มขึ้นของราคาของวัตถุดิบ ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะตลาดโลก หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
กำหนดให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะดุลยภาพที่ระดับราคาสินค้าดุลยภาพที่ P0 และมีรายได้ที่แท้จริงที่ Y0 ดังรูปด้านล่างนี้
ต่อมาเมื่อเกิดปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้เส้น AS ขยับไปเป็นเส้น AS' ส่งผลทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจาก P0 เป็น P1 อีกทั้งยังทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลงจาก Y0 เป็น Y1ดังรูปด้านล่างนี้
2.แรงดึงทางด้านอุปสงค์ (Demand-Pull) เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจมีความต้องการปริมาณสินค้าและบริการมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ๆ จึงดึงให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน
กำหนดให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะดุลยภาพที่ระดับราคาสินค้าดุลยภาพที่ P0 และมีรายได้ที่แท้จริงที่ Y0 ดังรูปด้านล่างนี้
ต่อมาเมื่อเกิดปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้อุปสงค์สูงขึ้น ทำให้เส้น AD ขยับไปเป็นเส้น AD' ส่งผลทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจาก P0 เป็น P1 ดังรูปด้านล่างนี้
ภาวะเงินเฟ้อแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือภาวะเงินเฟ้อที่คาดการณ์ได้ (Anticipated Inflation) คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ประชาชนสามารถคาดการณ์การเกิดเงินเฟ้อไว้ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง โดยผู้บริโภคจะซื้อสินค้านำมากักตุนไว้ก่อนที่ราคาสินค้าจะสูงขึ้น ทำให้อุปสงค์ของสินค้าสูงขึ้น นอกจากนี้หน่วยผลิตก็จะซื้อวัตถุดิบมากักตุนเพื่อที่จะผลิตสินค้าที่จะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต เพื่อกำไรที่สูงขึ้น ทำให้อุปทานของสินค้าสูงขึ้นตาม ดังนั้น หากประชาชนคาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง ระดับราคาจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผลิตภัณฑ์ที่แท้จริงยังคงเท่าเดิมภาวะเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไม่ได้ (Unanticipated Inflation) คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ประชาชนไม่สามารถคาดการณ์การเกิดเงินเฟ้อไว้ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง โดยเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ หน่วยผลิตจะได้รับกำไรเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า แรงงานซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อไว้ล่วงหน้า ค่าจ้างจึงอยู่เท่าเดิม ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง ดังนั้นแรงงานจึงมีการเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างที่เป็นตัวเงินให้สูงขึ้น ดังนั้น ส่งผลให้หน่วยผลิตต้องจ่ายค่าจ้างสูงขึ้น ทำให้กำไรลดลง จนเข้าสู่ดุลยภาพ
ผลกระทบของเงินเฟ้อ
อำนาจซื้อของเงิน
ภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้อำนาจซื้อของเงินลดลง หมายความว่าต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าเท่าเดิม หรือ การใช้เงินเท่าเดิมแต่ได้สินค้าน้อยลง
อัตราดอกเบี้ยการที่อำนาจซื้อของเงินลดลง หมายความถึงการมีปริมาณเงินในระบบมากเกินไป ทำให้สถาบันทางการเงินเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อ และเป็นการลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
การผลิตและการลงทุนการเกิดเงินเฟ้อทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้สินค้าขายไม่หมด ทำให้เกิดสินค้าคงเหลือมากขึ้น ดังนั้นหน่วยผลิตจึงตัดสินใจลดระดับการผลิตลง เพื่อไม่ต้องการให้สินค้าคงเหลือมีปริมาณเพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้หน่วยผลิตตัดสินใจที่จะยกเลิกหรือเลื่อนการลงทุนออกไปจนกว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้น ทำให้การลงทุนลดลง
การกระจายรายได้เมื่อระดับภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นทำให้ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่กว่าต้องยากจนมากขึ้น ส่วนผู้ที่มีานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะไม่ค่อยได้รับความเดือดร้อนเท่าผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่กว่า ทำให้การกระจายรายได้เลวลง
ฐานะการคลังของรัฐบาลเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ แรงงานจะมีการเรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานมีรายได้ที่เป็นตัวเงินสูงขึ้น นั่นคือรัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีรายได้ได้มากขึ้น อีกทั้งหนี้สินของรัฐบาลที่กู้ยืมมาจากเอกชน ต้องเสียดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง เนื่องจากการกู้ของรัฐบาลนั้น ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้คงที่ ทำให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ
การค้าระหว่างประเทศภาวะเงินเฟ้อทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และยังทำให้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าภายในประเทศมีราคาสูงว่าราคาสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศขึ้น
การเมืองอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นได้ อาจเกิดการประท้วงของแรงงานขึ้น
Unemployment
การว่างงาน
การว่างงาน หมายถึง แรงงานที่หร้อมจะทำงานแต่ไม่สามารถหางานทำได้ หรือเจ็บป่วย หรือรองานใหม่ หรือไม่สามารถหางานได้เหมาะสมกับตนเองได้
อัตราการว่างงาน หมายถึง อัตราส่วนระหว่างแรงงานที่ว่างงานกับแรงงานทั้งหมด โดยคิดเป็นร้อยละของจำนวนแรงงานทั้งหมด
สาเหตุของการว่างงาน
การว่างงานตามปกติในตลาดแรงงาน (Frictional Unemployment)เป็นการว่างงานที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนงาน หางานใหม่ ซึ่งเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นปกติในระบบเศรษฐกิจ
การว่างงานเนื่องจากโครงสร้าง (Structural Unemployment)เป็นการว่างงานที่เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาจเกิดจากโครงสร้างที่เน้นการใช้ปัจจัยทุนมากกว่าการใช้ปัจจัยแรงงาน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ที่ดีขึ้นทำให้ต้องใช้แรงงานน้อยลง ทำให้เกิดการว่างงานขึ้น
การว่างงานเนื่องจากวัฏจักร (Cyclical Unemployment)เป็นการว่างงานตามวงจรธุรกิจ คือเมื่อเศรษฐกิจดี การจ้างงานสูงขึ้น การว่างงานลดลง เมื่อเศรษฐกิจซบเซา ทำให้การจ้างงานลดลง ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น
การว่างงานเนื่องจากค่าแรงไม่ยืดหยุ่น (Sticky Price Unemployment)เป็นการว่างงานที่เกิดจากการที่ค่าจ้างของแรงงานสูงกว่าค่าจ้างที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินของแรงงาน ทำให้เกิดการว่างงานขึ้น
การจ้างงานเต็มที่ (Full Employment)การจ้างงานเต็มที่ คือ การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้อัตราการว่างงานเท่ากับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ นั่นหมายความว่า ทุกคนที่อยากทำงานจะมีงานให้ทำ ส่วนคนไหนที่ไม่อยากทำงานก็เป็นแรงงานที่มีเป็นการว่างงานโดยสมัครใจ
กฏของเซย์ (Say's Law)นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเชื่อในกฏของเซย์ซึ่งมีอยู่ว่าอุปทานจะก่อให้เกิดอุปสงค์ของตัวเอง (Supply creates its own Demand) หมายความว่า การผลิตสินค้าใด ๆ ก็ตามจะก่อให้เกิดความต้องการสินค้านั้น ๆ แน่นอน แต่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซียนไม่เห็นด้วย เนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนไม่มีกำลังซื้อสินค้ามากพอ ทำให้หน่วยผลิตไม่สามารถขายสินค้าได้หมด ทำให้เกิดสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก
การว่างงานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
การว่างงานโดยเปิดเผย (Open Unemployment)เป็นการว่างงานที่มองเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาสำรวจ
การว่างงานแอบแฝง (Disguished Unemployment)เป็นการว่างงานที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าทำงานอยู่ แต่การทำงานนั้นเป็นการทำงานในลักษณะที่ไม่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นั่นคือผลผลิตส่วนเพิ่มจากการใช้แรงงานหน่วยสุดท้ายเท่ากับ 0 (MPL = 0) หรือเป็นการทำงานที่ต่ำกว่าระดับความรู้ความสามารถของบุคคล
ผลกระทบของการว่างงาน
รายได้ประชาชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากไม่ได้ใช้ทรัพยากรแรงงานที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริโภคและการลงทุนลดลงเนื่องจากไม่มีรายได้ ทำให้ต้องลดการบริโภคลง อีกทั้งต้องดึงเงินออมซึ่งอยู่ในรูปของเงินลงทุนออกมาใช้ในการบริโภค ทำให้การลงทุนลดลง
การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเนื่องจากแรงงานที่ถูกทำให้กลายเป็นแรงงานที่ว่างงานมักจะมีความรู้ ความสามารถน้อย ส่วนใหญ่มีฐานะทางเศราฐกิจไม่ดี ทำให้ต้องขาดรายได้ไป ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมมากขึ้น เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ในบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า
ฐานะการคลังของรัฐบาลเลวลงเนื่องจากแรงงานว่างงาน ดังนั้นรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากผู้ไม่มีรายได้ได้ อีกทั้งรัฐบาลยังต้องจ่ายเงินเพื่อชดเชยการว่างงานเพื่อให้แรงงานเหล่านั้นสามารถครองชีพอยู่ได้ นั่นคือรัฐบาลต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากขึ้น
ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆเมื่อแรงงานไม่มีรายได้จากการทำงาน แรงงานจะพยายามหาหนทางเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่วิถีทางที่ผิดกฏหมาย เช่น การลักขโมย ปล้น จี้ อาจรวมไปถึงการฆาตรกรรมได้
สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลการว่างงานของแรงงานบางกลุ่มอาจมีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล เช่น เกษตรกร พนักงานที่เคยทำงานประจำ อาจมีการรวมกลุ่มชุมนุม ประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไข และอาจรุนแรงจนถึงขับไล่รัฐบาลให้ลาออก ดังประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2541
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น